RedRatkrabang Bangkok Thailand ยินดีต้อนรับทุกๆท่าน Welcome to...


รอโหลดซักกะเดี๋ยวนะตะเอง – เพลง ชีวามาลา – คุณจั่นทิพย์ สุถินบุตร วงดนตรีสุนทราภรณ์ – ขอขอบคุณที่ติดตามรับชมจ้า...


PlayListนี้ เริ่มต้นด้วย "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน" เรียงลำดับตั้งแต่ ตอนแรก ถึง ตอนปัจจุบัน ..ท้ายเพลย์ลิสท์เป็นคลิป "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร?" วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 - 16.00 น. ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสุโกศล (สยามซิตี้เดิม) คลิปนี้..วิทยากร รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเริ่มนาที 0:14:24
คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...
หรือคลิกที่นี่.. @ AsiaUpdate "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน"

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

14> การเมืองเร่อะ...อย่า"อิน"ให้มาก เพลาๆกันไว้มั่ง



*

ประชาธิปไตยหล่นหายไป มืดแค่ไหนยายต้องหามันให้เจอหลานเอ๊ย...


ธนวุฒิ ดุษฎีปัญจพร 3มิ.ย.2553.......


เรื่องการเมือง เรื่องของความคิดไ่ม่เหมือนกัน มันเป็นเรื่องปกติของคนเรา จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก จะได้ยินผู้ใหญ่คุยกันหลังเลือกตั้ง "เฮ้ย ชั้นลงให้พรรค..." "เฮ้ย ชั้นลงให้พรรค..." คุยกันสนุกสนาน เพราะทุกคนล้วนยอมรับในการเลือกของแต่ละคน และมาลุ้นกันว่าผลเลือกตั้งท้ายสุดเสียงใครจะมากกว่ากัน...ก็เท่านั้นเอง

ย้อนอดีตกลับไป พ.ศ.2496...คุณแม่ส่งผมเข้าเรียนชั้นประถม1 ที่โรงเรียนเทศบาลใกล้บ้าน วันแรกที่ไปโรงเรียนผมยังจำติดหูติดตาได้เป็นอย่างดี เช้าวันนั้น "หละอ่อนหน้อย"(เด็กน้อย)ตัวเล็กๆใบหน้าตื่นๆด้วยความตื่นเต้น สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวไหล่ตก ตรงหน้าอกด้านกระเป๋าเสื้อปักอักษรย่อชื่อโรงเรียน"ท.1"(เทศบาล1) ด้วยเส้นไหมสีน้ำเงินเข้ม นุ่งกางเกงขาสั้นสีกากีตัวหลวมๆรัดเข็มขัดติ้ว บนหัวสวมหมวกกะโล่สีเดียวกับกางเกงสำหรับกันแดด ที่หัวไหล่สะพายถุงผ้าดิบสำหรับใส่หนังสือเรียน ซึ่งก็มีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น(อิอิ...ตอนนั้นยังไม่มีtablet) กำลังเดินลากรองเท้าหนังสีดำปลิวไปตามแรงจูงมือจนเกือบจะฉุดของ"แม่เฒ่า"(คุณยายทวด-ท่านเป็นคุณแม่ของคุณแม่ของคุณแม่ของผม โอ๊ย...ลำดับไม่ถูก)

ใครก็ตามที่ได้เห็นภาพน่ารักๆเช่นนี้ คงจะอดอมยิ้มไปตามๆกันไม่ได้ แต่ถ้าสังเกตให้ดีๆ เมื่อมองไปที่เข็มขัดคาดเอวของ"หละอ่อนหน้อย"คนนั้น จะเห็นเชือกสีขาวเส้นเล็กๆร้อยเรียงเหรียญยี่สิบสตางค์-สิบสตางค์และห้าสตางค์ ซึ่งมีขนาดไม่เท่ากันเรียงซ้อนกันอยู่(ค่าจ้างเรียนวันละสามสิบห้าสตางค์) ทั้งหมดเป็นเหรียญดีบุกกลมหนาๆมีรูตรงกลาง ผูกติดกับหูกางเกงด้านหน้าแน่น ซึ่งคุณยายทวดผูกให้ ท่านบอกว่ากลัวเหรียญมันจะหล่นหาย เดี๋ยวจะอดซื้อขนมกินที่โรงเรียน


โดยปรกติคุณยายทวดท่านชอบดูลิเก โดยเฉพาะงานสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย ท่านจะผูกขาดนั่งเฝ้าหน้าโรงลิเกทุกๆคืน ตั้งแต่คืนแรกจนถึงคืนสุดท้ายของงานซึ่งก็ไม่เกิน 7 วัน 7 คืน ตอนผมเรียนอยู่ชั้นประถม2หรือประถม3นี่แหละ...ผมต้องไปนั่งเป็นเพื่อนท่านทุกๆคืน เพราะท่านรักเมตตาและเลี้ยงดูผมให้นอนห้องเดียวกับท่าน เมื่อท่านไปดูลิเกผมก็ต้องไปดูลิเกด้วย

ตัวผมเองเป็นคนซอกแซกชอบสังเกตสังกาอะไรรอบๆตัวมาตั้งแต่เด็ก กลางคืนไปนั่งดูเขาแสดงลิเกหน้าโรงพระเอกหล่อนางเอกสวย จึงคิดอยากจะไปดูหลังโรงเวลากลางวันดูมั่ง

ในตอนกลางวันเมื่อยังไม่ถึงเวลาแสดงพระเอกและผู้ชายเกือบทุกคนจะอยู่ในชุดเอนกประสงค์(ชุดไทยเตรียมพร้อม)นุ่งผ้าขะม้าผืนเดียวไม่ใส่เสื้อเนื้อตัวดำปี๋ ส่วนนางเอกและสาวๆมั่งแก่ๆมั่ง 4-5 คนจะนุ่งผ้าถุงกระโจมอก(ชุดไทยยอมแล้ว) นั่งล้อมวงกินข้าวมื้อกลางวันกันอย่างเอร็ดอร่อยหยอกล้อเล่นกันเป็นที่ครื้นเครง จากนั้นก็แยกย้ายกันไปพักผ่อนหรือนั่งท่องบทร้องตามมุมต่างๆทั้งบนเวทีหลังเวทีและใต้ถุนเวที

พอถึงตอนเย็นๆนั่นแหละจะโกลาหลกันอีกครั้ง หลังเวทีทั้งบนและล่าง บ้างก็กำลังอาบน้ำ บ้างก็กำลังกินข้าวมื้อเย็น บ้างก็กำลังขะมักเขม้นหวีผมแต่งหน้าทาปากอยู่หน้ากระจกเตรียมตัวแต่งตัวล่วงหน้ากันตั้งแต่ 5 โมงเย็นเพื่อเปิดโรงแสดงตอนสองทุ่ม

ผมสังเกตหลังเวทีหลายๆครั้งเข้าก็พอจะทราบอะไรลางๆ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ตัวร้ายหรือตัวโกงจะเป็นตั้วโผหรือนายโรงหรือเจ้าของคณะลิเกเอง และร้อยทั้งร้อยตัวนางเอกจะเป็นเมียของตั้วโผ

"ตั้วโผ" เป็นคำจีนสยาม หมายถึง คำจีนที่มีใช้ในคำไทย แต่ชาวบ้านคนไทยออกเสียงเป็น "โต้โผ" มีความหมายว่า เป็นคนออกหน้า เอาการเอางาน ทั้งๆที่คำว่า "ตั้วโผ" ในความหมายของคำจีนนั้น เป็นคำนาม หมายถึง หัวหน้าคณะมหรสพ มีละครและงิ้ว เป็นต้น

คำใกล้เคียงกันก็มี "ตั้วสิว" เป็นคำกริยา หมายถึง ซ่อมแซม เช่น ต้องตั้วสิวสำเภาเอาเข้าอู่ และ "ตั้วเหี่ย" เป็นคำนาม หมายถึง ตำแหน่งหัวหน้าอั้งยี่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนไทยคุ้นกับคำว่า "โผ" เดี่ยวๆมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อใกล้ฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ...


ก็เพราะมันเป็นเสียอย่างนี้ มิน่าล่ะ เวลาแสดงตัวร้ายหรือตัวโกงจะดุเด็ดเผ็ดมันถึงพริกถึงขิง โดยเฉพาะฉากที่ตัวโกงไล่ปล้ำนางเอกบนเวทีอุตลุด เป็นที่ถูกอกถูกใจคอวัยรุ่นที่ห้าวๆ และเป็นที่ขัดหูขัดตาไม่พออกพอใจของบรรดาแฟนๆที่เป็นแม่ยกโดยเฉพาะคุณยายทวดของผม ถึงกับเขวี้ยงครกตำหมากทองเหลืองของท่านขึ้นไปบนเวทีเลยทีเดียว...

หรือบางครั้งน้ำตาของคุณยายทวดไหลอาบแก้มเมื่อนางเอกโดนตัวอิจฉาแกล้ง ท่านถึงกับลุกขึ้นยืนท้าวสะเอวตะโกนขึ้นไปบนเวที...ฉันเห็นกับตาเมื่อตะกี้แกหยิบเอาของเขาไป แล้วมีหน้ามาโกหกหน้าด้านๆว่าไม่ได้เอาไป เอามาคืนซะดีดี...ไม่สงสารเขารึ...แกล้งกันอยู่ได้...

หึหึ...ดูลิเกสมัยเด็กๆ แล้วหันกลับมามองเรื่องการเมืองในปัจจุบัน ผมว่าคุณผู้อ่านอย่า"อิน"กับมันให้มากนัก นักการเมืองก็เหมือนนักแสดงลิเกนั่นแหละ พอขึ้นเวทีก็จะแสดงตีหน้าเศร้าเล่าเรื่องเท็จเพื่อให้สมบทสมบาท เป็นรัฐบาลก็แสดงอย่างหนึ่ง เป็นฝ่ายค้านก็แสดงอีกอย่างหนึ่ง ผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็ฟัดกันนัว แต่ถ้าผลประโยชน์ลงตัวก็เงียบหาย กอดคอหอมแก้มกันสดชื่นๆ...เห็นแล้วมันทุเรศว่ะ!...หรือคุณผู้อ่านว่าไง?

อะไรอะไรก็ไม่ว่า พอลงจากเวที...หนอยแน่! ผมเห็นกับตาได้ยินกับหู ลับหลังประชาชน มันยกมือไหว้ขอโทษขอโพยกันยกใหญ่ว่าเมื่อตะกี้มันเลยตามเลยไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตัวเฮี่ยเอ๊ยตั้วเฮีย...คงไม่ถือสาว่ากันนะ...ว่าแล้วก็นั่งล้อมวงกินเหล้าเคล้านารีเป็นที่สนุกสนานรื่นเริงบันเทิงเบิกบานสบายใจเฉิบๆไปด้วยกัน...ที่เขาพูดๆกันหนาหู "ในหมู่นักการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" ก็เห็นท่าจะจริง เนอะ...เนอะ...

เฮ้อ! อนิจฺจํ วต สงฺขารา อ่านว่า...อนิจจัง วะตะ สังขารา กรรมเวรมันตกอยู่ที่ประชาชน...ต้องมาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบ่งสี แยกเขี้ยวฮึ่มๆแฮ่ๆใส่กันเอง

ประชาธิปไตยอยู่ในมือของเราแค่ไม่ถึง 2 นาที พอเข้าคูหากาเสร็จก็เป็นของนักการเมืองไปแล้ว

มันช้ำใจตรงที่เวลาเราขอคืนมันกลับคืนลูกปืนให้เสียนี่ หรือว่ามันจงใจจะให้ตรงกับคำพังผืดที่ว่า "ประชาชนต้องตายก่อน"
เหอ...เหอ...